อาหารไทยแนวอายุรเวท โดยทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์
มะม่วง
มะม่วงผลไม้หน้าร้อน รับประทานผลดิบก็เปรี้ยวถูกใจ รับประทานผลสุกก็หวานหอม เป็นผลไม้ที่หาได้ง่าย อร่อยและได้ประโยชน์มากมาย
มะม่วง ชื่อวิทยาศาสตร์: Mangifera indica L ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-30 ม. ลำต้นตรง ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรี ดอก ดอกช่อสีนวล ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ผลเป็นผลเดี่ยว ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเหลืองส้ม มีเมล็ดภายใน 1 เมล็ด
ประโยชน์ของมะม่วง หากรับประทานผลดิบจะช่วยแก้คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน แก้กระหายน้ำ และช่วยกระตุ้นการขับถ่าย หากรับประทานผลสุก จะช่วยป้องกันมะเร็ง ลดระดับไขมันในหลอดเลือด ป้องกันการเสื่อมของตาและสมองลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบและช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก มหาวิทยาลัยมหิดลและมูลนิธิหมอชาวบ้าน
มะกอก
มะกอก ผลไม้ป่าที่นิยมอย่างมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบผลไม้รสเปรี้ยวจะรับประทานสดๆจิ้มพริกเกลือ หรือจะนำมาใส่ส้มตำ ต้มยำ ยำหรือก้อยต่างๆ ก็อร่อยถูกใจและยังได้ประโยชน์จากมะกอกมากมาย
มะกอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Spondias pinnata (L.f.) Kurz ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 15-25 เมตร ลำต้นกลม ตั้งตรง เปลือกสีเทา หนา เรียบ เปลือก ใบ และผล มีกลิ่นหอม มีรูอากาศตามลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ ชั้นเดียว เรียงแบบสลับ ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง เนื้อใบหนาเป็นมัน ผลสด มีเนื้อ ฉ่ำน้ำ รูปไข่ ผลแก่สีเหลืองอมเขียวถึงสีเหลืองอ่อน ประด้วยจุดสีเหลืองและดำ รสเปรี้ยวจัด เมล็ดเดียว ใหญ่และแข็งมาก ผิวเป็นเสี้ยนขรุขระ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง
สรรพคุณของมะกอก คือ มีวิตามินซีสูงจึงช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน ป้องกันหวัด ช่วยระบาย นอกจากนี้ยังแก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ แก้ธาตุพิการ แก้โรคขาดแคลเซียม แก้บิด เมล็ดของมะกอกหากนำมาเผาไฟแช่น้ำดื่ม จะช่วยแก้ร้อนใน สุมแก้หอบ แก้สะอึก
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สับปะรด
สับปะรด ชื่อวิทยาศาสตร์ Ananas comosus (L.) Merr. เป็นไม้ล้มลุก สูง 90-100 ซม. ลำต้นใต้ดิน ปล้องสั้น ไม่แตกกิ่งก้านมีแต่กาบใบห่อหุ้มลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนถี่ ใบเรียวยาว ปลายแหลม ขอบใบมีหนาม แผ่นใบสีเขียวเข้มและเป็นทางสีแดง ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาว ผล เป็นผลรวมรูปรี โคนกว้าง ปลายสอบ มีใบสั้นเป็นกระจุกที่ปลายผล เรียกว่า ตะเกียง ผลสุกสีเหลืองสดและฉ่ำน้ำ
ประโยชน์ของสับปะรด ผลสุกจะช่วยขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ และบำรุงกำลัง ช่วยย่อยอาหาร กัดเสมหะในลำคอ และมีกากใยช่วยกระตุ้นการขับถ่าย สำหรับแกนของสับปะรดจะช่วยแก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
มะยม
มะยม ต้นไม้มงคลของไทยซึ่งนิยมปลูกไว้หน้าบ้าน เนื่องจากมีชื่อมงคล เชื่อว่าปลูกแล้วจะทำให้ผู้คนนิยมชมชอบ ผลของมะยมยังมีรสเปรี้ยว สามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย เช่น ยำมะยม มะยมดอง หรือจะรับประทานสดๆก็อร่อยถูกใจใครๆหลายคน และยังมีคุณประโยชน์มากมาย
มะยม ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Phyllanthus acidus (L.) Skeels. เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เปลือกลำต้นขรุขระ กิ่งเปราะหักง่าย ใบเป็นใบประกอบ ประกอบด้วยใบย่อย 30 -60 ใบ ใบย่อยเป็นรูปไข่มีสีเขียว ใบมักจะออกรวมกัน อยู่ตรงส่วนของปลายยอด ดอกมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก มีกลีบเลี้ยงสีชมพู ผลเกือบกลม ผนังผลไม้เรียบแต่จะมีร่องตื้นๆ ประมาณ 6 - 8 สัน ตามความยาวของผล เปลือกผลสีเหลืองอ่อน มีเมล็ดเดียวในหนึ่งผล
สำหรับประโยชน์ของมะยม คือ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ต้านการอักเสบ ลดอาการปวด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ขับปัสสาวะ ต้านอนุมูลอิสระ ใช้เป็นยาระบาย บรรเทาอาการไอ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากสภาเภสัชกรรมและโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
มะขาม
มะขามผลไม้ไทยที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะนำมาใส่อาหารคาวเช่น แกงส้ม ต้มยำ ก็จะช่วยดับคาวอาหาร และเพิ่มรสชาติเปรี้ยวให้กับเมนูอาหารนั้นๆ หรือจะทำเป็นของทานเล่น เช่น มะขามแก้ว หรืออาจรับประทานสดๆ ก็ได้รสชาติเปรี้ยวหวานถูกใจน่ารับประทานเช่นกัน และยังมีคุณประโยชน์มากมาย
มะขาม ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Tamarindus indica L. เป็นไม้ต้น สูง 20-25 เมตร เปลือกต้นขรุขระและหนา สีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาดำ ผลเป็นฝักยาวหรือโค้ง เปลือกผลหนา แข็ง เปราะ สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทา ผลสดเมื่อแก่มีสีเขียวเข้ม เมื่อสุกมีสีน้ำตาลเนื้อฉ่ำน้ำ มีรสเปรี้ยว
สำหรับประโยชน์ของมะขาม คือ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยแก้อาการเมารถ เนื้อหุ้มเมล็ด ช่วยแก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ยาถ่าย ขับเสมหะ แก้ไอ กระหายน้ำ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากมหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และมูลนิธิหมอชาวบ้าน