ธาตุดิน: ผลไม้

อาหารไทยแนวอายุรเวท โดยทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์

ทุเรียน

ทุเรียน ผลไม้ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาผลไม้ เนื่องจากเปลือกของทุเรียนมีลักษณะเป็นหนามคล้ายมงกุฎของพระราชาและยังมีรสชาติที่หวาน มีกลิ่นเฉพาะตัว ทำให้เป็นที่นิยมของหลายๆคน

ทุเรียน ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Durio zibethinus L.เป็นพืชในวงศ์ BOMBACACEAE เป็นไม้ผลยืนต้น ลำต้นตรง สูง 25-50 เมตร ชั้นนอกของลำต้นสีเทาแก่ ผิวขรุขระหลุดลอกออกเป็นสะเก็ด ไม่มียาง ใบเป็นใบเดี่ยว ผลเป็นผลเดี่ยว ผลมีน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม เป็นรูปรีถึงกลม เปลือกผลทุเรียนมีหนามแหลมเมื่อแก่ผลมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในผลเป็นสีเหลืองอ่อน

ทุเรียนมีคุณค่าทางอาหารสูง และให้พลังงานสูง ประมาณ 124 กิโลแคลอรี/100 กรัม เพราะอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และมีแร่ธาตุหลายชนิด เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม ซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและฟัน นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยแก้จุกเสียดในท้อง ให้ความร้อนกับร่างกาย บำรุงกำลัง

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

มังคุด

มังคุด ผลไม้ชื่อดังที่ได้ชื่อวาเป็นราชินีแห่งผลไม้ เนื่องจากมีส่วนของกลีบเลี้ยงที่มีลักษณะคล้ายมงกุฎของราชินี และยังมีรสชาติที่หวานอร่อยถูกปากถูกใจหลายๆคน และยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย

มังคุด ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia mangostana L. เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10 - 25 เมตร เปลือกต้นสีดำ มียางเหนียวข้นสีเหลืองอมเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว ผลเป็นทรงกลม เมื่อสุกเปลือกผลจะมีสีม่วงเข้มหรือม่วงแกมน้ำตาล เปลือกหนาประมาณ 1 เซนติเมตร มียางสีเหลือง เนื้อในผลมีสีขาวขุ่นรสชาติหวาน เรียงตัวแบ่งเป็น ช่องๆคล้ายกลีบส้ม

สำหรับสรรพคุณของมังคุดนั้นมีมากมาย โดยเนื้อมังคุดจะช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย มีสารกลุ่มแคททีชินและฟลาวานอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้เปลือกของมังคุดยังมีสรรพคุณทางยา คือ ช่วยแก้อาการท้องเสีย ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาแผล ลดการอักเสบของผิวหนังอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากมหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

ลำไย

ลำไยผลไม้เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย ด้วยรสชาติที่หอมหวาน รับประทานง่าย และยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลาย เช่น ลำไยกระป๋อง น้ำลำไย ทำให้ลำไยเป็นผลไม้ที่ใครๆต่างเคยลิ้มลอง

ลำไย ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Dimocarpus longan Lour.เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาล ออกดอกเป็นช่อ สีขาวครีม ผลทรงกลมเป็นช่อ ผลดิบเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว ผลสุกสีน้ำตาลล้วน เนื้อลำไยสีขาวหรือชมพูอ่อน เมล็ดสีดำเป็นมัน เนื้อล่อนเม็ด

ประโยชน์ทางยาของลำไยตามสรรพคุณแผนโบราณของไทยใช้เมล็ดแก้บาดแผลมีเลือดออก ห้ามเลือด แก้ปวด สมานแผล เนื้อลำไย แก้ผอมแห้งแรงน้อย นอนไม่หลับ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและมูลนิธิหมอชาวบ้าน

อ่านต่อ เกร็ดความรู้สุขภาพที่น่าสนใจ