โรคกลากและเกลื้อน (Ringworm)

สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

กลาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา มีลักษณะวงกลม เป็นผื่นแดง มีขอบชัดเจน เมื่อขยายวงกว้างขึ้นตรงกลางจะค่อยๆหายและสีจางลง พบได้บริเวณผิวหนังและเล็บ หากขึ้นที่ง่ามนิ้วเท้า เรียกว่า ฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า หากขึ้นที่ขาหนีบ เรียกว่า โรคสังคัง สำหรับกลากที่ขึ้นบริเวณหนังศีรษะและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมอย่างถาวร ขึ้นที่เล็บจะทำให้เล็บผุกร่อน โรคกลากสามารถติดต่อได้ง่าย โดยการสัมผัส การใช้ของร่วมกัน เช่น ติดมาจากร้านตัดผม ร้านเสริมสวย หรืออาจติดมาจากสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัข แมว

เกลื้อน เกิดจากเชื้อราแต่เป็นโรคที่ไม่ติดต่อ ลักษณะของเกลื้อนนั้นอาจพบเป็นวงเล็กๆ รอบรูขุมขนจนถึงรวมกันเป็นปื้นใหญ่ มักมีสีซีดจางกว่าผิวหนังปกติข้างเคียง บริเวณวงอาจมีเศษขุยละเอียดหรือสะเก็ดของผิวหนังที่แห้ง โรคนี้พบได้บ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หน้า ต้นคอ หน้าอก และหลัง เป็นต้น

ทั้งสองโรคนี้ผู้ที่เป็นจะมีอาการคัน ผิวหนังจะมีรอยโรคก่อให้เกิดความไม่สวยงาม และเมื่อรักษาหายแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ โรคนี้พบได้ในคนที่มีเหงื่อออกมาก ใส่เสื้อผ้าหนาๆหรือรองเท้าที่อับชื้น ดังนั้นจึงควรหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำเป็นประจำ ใส่เสื้อผ้าหรือรองเท้าที่ไม่อับชื้น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย

สำหรับสมุนไพรในครัวเรือนที่นิยมใช้รักษาโรคกลากและเกลื้อน ได้แก่ กระเทียม โดยใช้กลีบกระเทียมฝานเป็นชิ้นบางๆหรือตำ ทาบริเวณที่เป็นรอยโรค ข่า ใช้เหง้าสด ตำผสมกับเหล้าโรงทาบริเวณที่เป็นโรค ชุมเห็ดเทศ ใช้ใบสดตำทาบริเวณที่มีอาการ มะคำดีควาย ใช้ผลทุบให้แตก ต้มกับน้ำแล้วนำน้ำที่ได้มาทาบริเวณรอยโรคหรือนำมาสระผมในกรณีที่ต้องการรักษากลากบนหนังศีรษะ ทองพันชั่ง ใช้ใบสดและรากตำให้ละเอียด แช่เหล้าโรง 1 สัปดาห์ เอาน้ำเหล้ามาทา หรือเพื่อความสะดวกอาจใช้ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง ทาวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ทาจนกว่าจะหาย ทั้งนี้การใช้สมุนไพรและยาสมุนไพรรักษากลากและเกลื้อน เมื่อหายแล้วควรใช้ต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

กลากและเกลื้อนเป็นโรคที่พบได้บ่อย ก่อให้เกิดความรำคาญและความไม่มั่นใจ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสม รักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการเกิดโรค แต่ถ้าหากเป็นแล้ว สามารถรักษาได้ง่ายๆด้วยสมุนไพรในครัวเรือน หรืออาจใช้ยาสมุนไพรตำรับรักษาเพื่อความสะดวกก็ได้เช่นกัน

ขอขอบข้อมูลอ้างอิงจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. หมอชาวบ้านและบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชีจากยาสมุนไพร)

อ่านต่อ เกร็ดความรู้สุขภาพที่น่าสนใจ