สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
โรคหัดมักเกิดกับเด็กที่อายุมากกว่า 8 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ที่เคยเป็นโรคหัดนั้นได้หมดลงแล้ว แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัดแล้ว เบื้องต้นจะมีอาการไข้สูง น้ำมูกไหล ไอ ตาแดงแฉะ เมื่อมีไข้ได้ประมาณ 4 วัน จะเริ่มมีผื่นขึ้นที่หลังหูแล้วลามไปยังหน้าและตามตัว หลังจากนั้นไข้ก็จะลดลง ผื่นจะค่อยๆจางหายไปภายในประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ให้ระมัดระวังโรคแทรกซ้อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง
สำหรับการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่
1. หากผู้ป่วยมีไข้สูง ควรให้ผู้ป่วยนอนพัก เช็ดตัวในช่วงที่มีไข้สูง อาจรับประทานยาแก้ไข้ เช่น ยาเขียวหอม โดยให้นำยามาละลายน้ำรากผักชีต้ม เพื่อใช้เป็นน้ำกระสายยาทั้งรับประทาน และชโลม หรือยามหานิลแท่งทอง โดยหลังจากรับประทานยาจะมีผื่นเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเป็นยากระทุ้งพิษไข้ จึงต้องใช้ยาชโลมเพื่อบรรเทาอาการผื่น
2. ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ เพื่อให้ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ผักต้ม ข้าวต้ม
3. ให้ดื่มน้ำมากๆเพื่อช่วยขับของเสียและลดความร้อนภายในร่างกาย
4. ควรแยกผู้ป่วยออกจากเด็กอื่นๆจนถึงระยะ 4 - 5 วันภายหลังผื่นขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
5. ความรู้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด อาหารหมักดอง เนื่องจากจะทำให้อาการผื่นและอาการไข้กำเริบมากขึ้น
โรคหัดเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในเด็กจึงควรฉีดวัคซีนป้องกัน แต่หากเป็นโรคหัดแล้วควรดูแลปฏิบัติตนให้ถูกวิธีเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนและช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยอาจใช้ความรู้ทางด้านศาสตร์การแพทย์แผนไทย เช่น การรับประทานยาเขียวหอม ยามหานิลแท่งทองร่วมด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชียาจากสมุนไพร) และโรงพยาบาลราชวิถี