อาการนอนไม่หลับ (Insomnia)

สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

อาการนอนไม่หลับ เป็นโรคที่พบบ่อยตามอายุที่มากขึ้นและพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เนื่องจากทำให้รู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างวัน หงุดหงิดง่าย มีผลต่อภาวะทางอารมณ์และจิตใจ อาจเกิดความเครียด ซึมเศร้า กังวล นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ หอบหืด ความดันโลหิตสูงได้มากขึ้น

สำหรับสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ ได้แก่

1. จากความวิตกกังวล ในเรื่องต่างๆ เช่น อาการเจ็บปวดจากโรคอื่นๆ

2. มีสิ่งรบกวนจากสภาพแวดล้อม เช่น แสงสว่าง เสียงดัง กลิ่นเหม็น หรือความไม่คุ้นเคยในสถานที่ เป็นต้น

3. จากการถูกฝึกเรื่องการนอนอย่างไม่เหมาะสม เช่น การนอนเวลากลางวัน การรับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน

4. การเสพสิ่งเสพติด เช่น สุรา ยาเสพติด สูบบุหรี่

5. ผลข้างเคียงจากยาบางอย่าง เช่น ยาแก้ปวดบางประเภท ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น

6. ปัญหาการนอนที่มาจากโรคของการนอนหลับโดยตรง เช่น การขาดลมหายใจระหว่างการนอนหลับเป็นพัก ๆ

การปฏิบัติตนเบื้องต้น

1. ทำงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายความเครียด แช่เท้าด้วยน้ำอุ่นๆ หรืออาจนวดผ่อนคลายเพื่อช่วยให้ระบบเลือดไหลเวียนสะดวก

2. จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอน ควรมีผ้าม่านเพื่อบดบังแสงสว่าง ใส่เสื้อผ้าที่นุ่มสบาย อาจวางน้ำมันหอมระเหยหรือผิวมะกรูดหรือเปลือกส้มไว้ในห้องนอน เพื่อให้จิตใจผ่อนคลายหลับได้ง่ายขึ้น

3. จัดเวลานอนให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน การทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน อาจดื่มน้ำส้มหรือนมอุ่นๆแทน

4. รับประทานข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท มัน เผือก กล้วย เป็นประจำเพราะอาหารเหล่านี้มีสารสำคัญที่ทำให้หลับง่าย หรืออาจรับประทานยาหอมก่อนนอน เช่น ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิตร เพื่อช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก

5. ควรเลิกสูบบุหรี่ และเลิกการดื่มเหล้าจัด หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือน้ำอัดลม

อาการนอนไม่หลับเป็นโรคที่พบบ่อย ซึ่งส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน หรืออาจใช้กลิ่นของสมุนไพรช่วยเพื่อให้รู้สึกหลับง่ายขึ้น ร่วมกับการรับประทานอาหารจำพวกธัญพืชเป็นประจำ และอาจรับประทานยาหอมต่างๆ หรือนวดเพื่อช่วยให้ระบบเลือดไหลเวียนได้ดี

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมสุขภาพจิต

อ่านต่อ เกร็ดความรู้สุขภาพที่น่าสนใจ