สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
ภาวะท้องผูก คือ การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เล็ก อาจลักษณะคล้ายขี้แพะ มักมีอาการอึดอัดแน่นท้องร่วมด้วย และเมื่อขับถ่ายจะต้องใช้แรงเบ่งถ่ายมากซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวารตามมา ภาวะนี้พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60- 65 ปี สาเหตุของภาวะท้องผูก
1. พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่รับประทานผัก ผลไม้ ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย และความเครียด เป็นต้น
2. ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคลายเครียด ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาแก้ความดันโลหิตสูง ยาลดกรด เป็นต้น
3. มีโรคประจำตัวหรือความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกาย เช่น โรคของระบบประสาท หรือมีก้อนเนื้องอกเข้าไปอุดกั้นบริเวณลำไส้ทำให้ถ่ายอุจจาระไม่ออก ดังนั้นควรสังเกตว่ามีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่น การถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้องรุนแรง น้ำหนักลด เป็นต้น
วิธีการป้องกันและรักษาภาวะท้องผูก
1.รับประทานอาหารที่มีกากใย ได้แก่ ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณวันละ 6-8 แก้ว หรือรับประทานยาสมุนไพร เช่น ยาธรณีสันฑะฆาต ยาชุมเห็ดเทศ
2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอเพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว หรือรักษาด้วยการนวดท้องตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยเพื่อกระตุ้นลำไส้และกระจายลมในระบบทางเดินอาหาร
3.ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่กลั้นอุจจาระ
4.ทำงานอดิเรกเพื่อลดความเครียด ลดความกังวล
ภาวะท้องผูก ส่งผลต่อชีวิตประจำวันทำให้เกิดอาการอึดอัดแน่นท้อง และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม วิธีการป้องกันและรักษาเบื้องต้น คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การรับประทานผักผลไม้ การออกกำลังกาย เป็นต้น หรืออาจรักษาด้วยการรับประทานยาสมุนไพร และการนวดท้องด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ บัญชียาจากสมุนไพร (บัญชียาหลักแห่งชาติ )