สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
วัยทองคือช่วงวัยอยู่ระหว่างวัยวัยเจริญพันธุ์และวัยผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต่อมไร้ท่อของระบบสืบพันธุ์เริ่มเสื่อมทำให้ผลิตฮอร์โมนเพศลดน้อยลง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และมีโอกาสเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ง่าย ในผู้หญิงฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิต คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน สำหรับผู้ชาย คือ ฮอร์โมนที่ชื่อว่า "แอนโดรเจน" สร้างจากอัณฑะและมีมากในวัยเจริญพันธุ์ เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนแอนโดรเจนจะน้อยลงเรื่อยๆโดยธรรมชาติผู้ชายจะแก่ช้ากว่าผู้หญิง และ ผู้ชายไม่มีประจำเดือนเป็นตัวบ่งบอกเหมือนผู้หญิงทำให้สังเกตได้ยาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยทองของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยจะอยู่ในช่วงอายุ 48-52 ปี ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
อาการที่พบได้ในผู้ชายวัยทอง คือ เครียด หงุดหงิด โกรธง่าย เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก สมาธิลดลง นอนไม่ค่อยหลับ กำลังวังชาลดลง กระดูกเริ่มเสื่อม การเผาผลาญไขมันจะลดลงทำให้ลงพุงได้ กล้ามเนื้อลีบเล็กลง และผมบางมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะคล้ายกันกับผู้หญิงแต่อาการไม่เด่นชัดเท่า อาการเปลี่ยนแปลงในผู้ชายเกิดขึ้นที่ละเล็กทีละน้อย จนบางคนไม่รู้สึกตัวเลย แต่บางคนก็รู้สึกถึงสมรรถนะทางเพศที่ลดลง อารมณ์หรือจิตใจที่ “ตก” ลงไปจากระดับเดิม สภาวะนี้ทางการแพทย์เรียกว่าอาการผู้ชายวัยทอง หรือแอนโดรพอส (andropause) แพทย์บางคนไม่ยอมรับคำนี้ และพอใจที่จะเรียกภาวะนี้ว่า “อาการจากอวัยวะผลิตฮอร์โมนลดลงในผู้ใหญ่” หรือ“ภาวะขาดแอนโดรเจนในคนสูงอายุ”ในอดีตแพทย์มักมองอาการเหล่านี้ว่าเป็นอาการของภาวะซึมเศร้าหรืออาการชราตามวัยแต่ในปัจจุบันนี้มีการเจาะเลือดเพื่อพิสูจน์ระดับฮอร์โมนได้ง่ายๆ ประกอบกับการมีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าแอนโดรพอสทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด
ถึงแม้มนุษย์จะไม่สามารถเอาชนะความเสื่อมถอยได้ แต่ก็พอมีวิธีที่จะยืดเวลาแห่งความเป็นหนุ่ม เป็นสาวให้ยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติเอง นั่นคือ
1. มีวินัยในการดำเนินชีวิตที่ดี
2. พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง หรือหากนอนหัวค่ำได้จะยิ่งดี เพราะฮอร์โมนเพศชายจะสร้างตอนกลางคืน
3. งดสูบบุหรี่ และดื่มเหล้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายแทบทุกระบบ
4. กินอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสัดส่วน ไม่มากหรือน้อยเกินไป
5. มองโลกในแง่ดี พยายามอย่าให้มีความเครียด
6. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
ทั้งนี้อาจรักษาร่วมกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย ได้แก่ การทำหัตถการด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในช่องท้อง กระตุ้นการขับถ่ายของเสีย กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทั่วทั้งร่างกาย
วัยทองเป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งหลายคนทราบดีว่าการออกกำลังกายเป็นประจำ จะส่งผลให้อาการดังกล่าวดีขึ้น ทำให้ร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉง ระบบประสาทตื่นตัวสมรรถภาพทางเพศไม่เสื่อมถอยเร็วกว่าวัยอันควร แต่ดูเหมือนว่าวิธีง่ายๆ ที่ได้ผลที่สุด กลับมีคนปฏิบัติตามได้น้อย ส่วนใหญ่มักจะละเลยตัวเองจนเกิดปัญหา แล้วจึงค่อยหาวิธีแก้ไขภายหลัง ดังนั้นเรามารักษาร่างกายตนเองภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติเพื่อเอาชนะความเสื่อมถอยกันเถอะค่ะ แหล่งข้อมูล : ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์, นพ.บัณฑิต ศรไพศาล, สุมาลี ทองแก้ว. 2000. ผู้ชายวัยทอง ความจริงที่ต้องยอมรับ (ว่าแก่แล้วเหมือนกัน). หมอชาวบ้าน (เมษายน).