สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
สิว (Acne) มีเป็นลักษณะตุ่มเม็ดเล็กๆ เป็นไตสีขาวๆ อยู่ข้างใน หรืออาจเป็นเป็นตุ่มหนอง สิว เกิดบริเวณที่ต่อมไขมันทำงานมาก ได้แก่ ใบหน้า หน้าอก หลังช่วงบน ไหล่ สาเหตุของสิวเกิดจากฮอร์โมนเพศที่กระตุ้นให้ต่อมไขมันสร้างน้ำมันและไขมันมากขึ้นจนสะสมและค้างอยู่ในรูขุมขน แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ดีทำให้เกิดสิว จึงมักพบว่าผู้ที่เป็นสิวจะอยู่ในช่วงวัย 11-14 ปี เพราะเป็นวัยที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยส่งเสริมอื่นๆที่ทำให้เกิดสิว เช่น อารมณ์ อาหารหวานหรืออาหารจำพวกแป้ง ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกําเนิด ยาเสตียรอยด์ เครื่องสําอางบางชนิดที่มีส่วนผสมที่อุดตันรูขุมขน สภาพแวดล้อม แสงแดด อุณหภูมิ หรือการล้างหน้าที่มีการถูมากเกินไป การบีบสิว เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้ว สิวจะสามารถหายได้เองเมื่ออายุมากว่า 25 ปี แต่อาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้
สำหรับวิธีป้องกันการเกิดสิว ได้แก่
1. ทำความสะอาดร่างกายและใบหน้าทุกวัน แต่ไม่ควรล้างหน้าบ่อยหรือขัดถูผิวหน้ามากเกินไป เพราะจะทำให้ผิวหนังเสียสมดุล ควรล้างหน้าเพียงวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ยกเว้นช่วงที่เหงื่อออกมาก เช่น จากการออกกำลังกาย หรือช่วงที่คิดว่าผิวหนังสกปรก
2. รับประทานผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด อาหารมัน อาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. ออกกำลังกายเพื่อช่วยลดความเครียดและขับของเสียออกทางผิวหนัง
4. ไม่เอามือสัมผัสหน้าหรือเท้าคาง เนื่องจากแบคทีเรียบนมือจะทำให้สิวเห่อได้
5. ไม่บีบ แกะ เกาสิว เนื่องจากจะเกิดรอยแผลเป็นหรือรอยหลุมสิว
6. พักผ่อนให้เพียงพอ
นอกจากนี้อาจใช้สมุนไพรในครัวเรือน เช่น กระเทียม ข่า ไพล ขมิ้นชัน โดยการคั้นหรือตำเอาน้ำมาทาบริเวณที่เป็นสิว จะช่วยลดการอักเสบของสิว หรืออาจใช้ใบบัวบก ว่านหางจระเข้ เพื่อลดรอยแผลเป็นและรอยดำจากการเกิดสิว สำหรับวิธีการใช้ว่านหางจระเข้นั้นจะต้องปอกเปลือกสีเขียวออก จากนั้นล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมดแล้วนำวุ้นของว่านหางจระเข้มาพอกหน้า ประมาณ 15 นาที แล้วล้างออกให้สะอาด
สิว พบได้บ่อยในวัยรุ่น ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจและเสียบุคลิกภาพ ดังนั้นควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ทำความสะอาดผิวให้ถูกวิธี และอาจใช้สมุนไพรในครัวเรือนเพื่อช่วยป้องกันการเกิดสิวอักเสบและลดเรือนรอยแผลเป็น
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล